เส้นคอตึง ปวดหัวถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันไปซะแล้ว อาการปวดร้าวบริเวณต้นคอ ท้ายทอย สามารถทำให้เกิดอาการปวดหัวได้นั่นก็เป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อที่ต้นคอและบริเวณหัวมีการเชื่อมต่อกัน เมื่อกล้ามเนื้อที่ต้นคอเกิดอาการบาดเจ็บก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวตามมาด้วย GoWabi ขอแชร์เคล็ดลับที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น ด้วยการบรรเทาอาการปวดหัวที่มีวาเหตุมาจากการเจ็บที่ต้นคอ ทำได้อย่างไรบ้างตามมาดูกันเลยค่ะ
สาเหตุที่ทำให้เส้นคอตึง ปวดหัว
เพื่อน ๆ เดาออกไหมคะว่าสาเหตุอะไรกันแน่ที่ทำให้เส้นคอตึง ปวดหัวตามมา หลัก ๆ แล้วก็มาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของพวกเราในแต่ละวันนี่แหละค่ะ เช่น การนั่งขับรถเป็นระยะเวลานาน การก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือเป็นประจำ ไลฟ์สไตล์ที่เราจำเป็นต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือแม้กระทั่งท่านอนที่ไม่ถูกต้องก็สามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและท้ายทอยได้
มีอาการอะไรอีกบ้างที่เป็นสาเหตุของอาการปวดต้นคอ จนลุกลามไปถึงอาการปวดหัว อ่านได้ในบทความนี้เลย 7 สาเหตุที่ทำให้ปวดต้นคอ ท้ายทอย มึนหัวเป็นประจำ
7 เคล็ดลับวิธีลดอาการปวดหัวที่เกิดจากอาการตึงบริเวณต้นคอ
เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าสาเหตุใดกันแน่ที่เป็นตัวการหลักทำให้เราเกิดอาการปวดบริเวณต้นคอลุกลามไปจนถึงปวดหัว ให้เริ่มจากจัดการสาเหตุนั้นก่อนเลยค่ะ
1.ปรับปรุงพื้นที่ทำงานให้เหมาะสม
เรียกได้ว่าเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ คนเลย วิธีการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดแรงกดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นตึงและลุกลามไปจนทำให้เกิดอาการปวดหัว จัดพื้นที่ทำงานให้เหมาะสมกับสรีระร่างกายของเราได้ง่าย ๆ ด้วยเคล็ดลับตามนี้เลย
ตำแหน่งของหน้าจอมอนิเตอร์ ควรอยู่ในระดับสายตาพอดี ไม่ทำให้เราต้องก้มตัวลงไปข้างหน้าหรือต้องยื่นคอไปข้างหน้าเพื่อมองจอมอนิเตอร์
เก้าอี้นั่ง เลือกเก้าอี้นั่งที่มีความสูงที่เหมาะสมโดยเท้าของเราจะต้องวางเรียบไปกับพื้นเมื่อเรานั่ง เข่าของเราต้องเลยออกมาจากขอบของเก้าอี้ประมาณ 2-3 นิ้ว
2.ปรับปรุงบุคลิกภาพ
ท่ายืนหรือท่าเดินที่ถูกต้องส่งผลต่อแรงกดบริเวณช่วงต้นคอเป็นอย่างมาก ถ้าโดยปกติแล้วเราเป็นคนเดินห่อไหล่ ตัวโน้มไปข้างหน้าท่านี้จะส่งผลให้น้ำหนักไปลงบริเวณส่วนหัวและคอเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความเจ็บปวด ไม่สบายตัวและเสียบุคลิกภาพอีกด้วย
วิธีการปรับปรุงบุคลิกภาพขั้นแรกที่สุดเลยก็คือเราต้องรู้ตัวก่อนว่าท่าเดินของเรานั้นถูกต้องหรือยัง ในขณะที่เรากำลังยืนให้ลองสังเกตดูว่าส่วนหลังและส่วนคอของเรามีการตั้งตรงหรือไม่ ช่วงไหล่ผายและวางตัวไปด้านหลังเล็กน้อย ช่วงเอวไม่แอ่นไปด้านหน้า หัวตั้งตรงให้นึกภาพว่ากำลังมีสมุดวางไว้อยู่บนหัวและเราพยายามทำให้มันไม่หล่นลงไป
3.ปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้น
คุณภาพของการนอนหลับเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุด การนอนไม่หลับต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมและทำให้อาการปวดหัวแย่ลงไปอีก สิ่งที่อยากจะให้ลองทำเมื่อต้องการเพิ่มคุณภาพของการนอนก็คือ การจัดตารางเวลาเข้านอนและตื่นนอน งดเล่นมือถือก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทำให้ร่างกายผ่อนคลายมากที่สุดก่อนเข้านอน
ท่าทางการนอนของเราก็สำคัญ ช่วงหัวและต้นคอควรได้รับการรองรับจากหมอนตลอดการนอนหลับไม่ว่าเราจะนอนท่านอนหงายหรือนอนตะแคงก็ตาม ระดับของหมอนไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละคน ปัญหาที่พบได้บ่อยก็คือการนอนหัวตกหมอน อาจจะต้องกลับไปดูว่าขนาดและรูปทรงของหมอนเหมาะสมหรือไม่ การนอนตกหมอนบ่อย ๆ ตื่นมาก็ทำให้คอเคล็ด เกิดการบาดเจ็บบริเวณต้นคอ
4.เพิ่มการออกกำลังกาย
การเพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกายและข้อต่อโดยการออกกำลังกายช่วยลดอาการเส้นคอตึง ปวดหัวได้เป็นอย่างดี ถ้าหากเป็นคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายแนะนำว่าให้เลือกกิจกรรมที่เน้นการยืดและช่วยผ่อนคลายร่างกาย เช่น โยคะ ออกกําลังกายคาดิโอเบา ๆ ด้วยการเดิน การออกไปเดินข้างนอกไปเจอแสงแดดและธรรมชาติยังช่วยลดความเครียดสะสมได้อีกด้วย
5.จัดตารางไปนวดผ่อนคลายบ้าง
การนวดช่วยลดความตึงและคลายเส้นบริเวณคอ บ่า ไหล่ ได้เป็นอย่างดี และบางครั้งก็สามารถช่วยลดอาการปวดหัวได้อีกด้วย วิธีการนวดสามารถเลือกได้ตามที่ชอบได้เลยค่ะไม่ว่าจะเป็นการนวดแผนไทย นวดน้ำมันรีดเส้น หรือนวดอโรม่าก็ช่วยคลายความตึงเครียดบริเวณต้นคอได้เหมือนกัน
ถ้าหากใครที่ไม่มีเวลาไปนวด เราสามารถนวดตัวเองได้เหมือนกันนะ ลองหาขวดน้ำที่มีน้ำบรรจุอยู่ข้างในมานวดคลึงบริเวณไหล่และต้นคอ ก็ช่วยคลายความตึงของกล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้เหมือนกันนะ
6.หาวิธีจัดการกับความเครียด
แน่นอนว่าสาเหตุของความเครียดในแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การที่เรามีความตระหนักรู้ว่าสิ่งไหนในชีวิตที่ทำให้เราเกิดความเครียดคือจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะงานหรือเปล่านะ? หรือเป็นเพราะความสัมพันธ์ในชีวิต? ลองนั่งจับเข่าคุยกับตัวเองดูก่อนว่าประเด็นไหนที่ทำให้เราเกิดความเครียด เช่น เพื่อนร่วมงาน หรือภาระงานที่หนักจนเกินไปกันแน่ ลองเซตขอบเขตภาระงานที่เรารับได้ดู ลองคุยกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานถึงภาระงานของเราว่าสามารถแบ่งเบาไปให้คนอื่นช่วยทำได้หรือไม่
เมื่อรู้สึกตัวเองว่ามีความเครียดเกิดขึ้น ลองหยุดพักสักนิด การฝึกหายใจเข้าและหายใจออกช้า ๆ ช่วยลดความเครียดได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าหากเราต้องไปพบเจอกับความเครียดแบบเดิมซ้ำ ๆ การลดความเครียดด้วยการหายใจอาจจะช่วยอะไรมากไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เราเกิดความเครียด และหาเวลาไปทำสิ่งที่เราชอบดูบ้าง
7.ประคบร้อนและประคบเย็น
จะเลือกประคบร้อนหรือประคบเย็นขึ้นอยู่กับชนิดของอาการปวดหัวที่เราเป็น ถ้าเราปวดหัวแบบไมเกรน ลักษณะอาการปวดหัวจะเป็นแบบตุ๊บ ๆ มักจะปวดหัวเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ให้ใช้การประคบเย็นบริเวณหัวเพื่อลดอาการปวด ใช้เวลาประคบประมาณ 15 นาที พัก 15 นาที ถ้ายังไม่หายให้ประคบเย็นซ้ำอีก 15 นาที ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
ส่วนอาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียด (tension headache) ลักษณะอาการปวดมักจะปวดบริเวณหน้าผากคล้ายกับถูกบีบรัดที่หัวอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการปวดบริเวณต้นคอและบ่าไหล่ด้วย ให้ใช้การประคบร้อนในบริเวณที่มีอาการเจ็บปวดจะช่วยบรรเทาอาการได้
เส้นคอตึง ปวดหัวไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย อาการนี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเรามาก ๆ เลยแหละ จะเห็นได้ว่าวิธีการแก้ไขส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการปรับปรุงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งทำงาน ท่านอน การออกกำลังกาย หรือการจัดการกับความเครียด ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าควรทำ แต่บางครั้งมันก็ทำได้ยากใช่ไหมล่ะ นี่เลยยย GoWabi มีตัวช่วย ดีลเด็ด ๆ ดูแลร่างกายโดยนักกายภาพบำบัด ไปตำกันเลย
อ้างอิง
https://www.sciatica.com/from-the-doc/tips-for-relieving-headaches-caused-by-neck-pain/