พังผืดรัดเส้นประสาทที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) เป็นปัญหายอดฮิตของมนุษย์ทำงานที่ต้องใช้มือทำกิจกรรมเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา เช่น การพิมพ์งานหน้าคอมพิวเตอร์ การใช้อุปกรณ์ช่างที่ทำให้ข้อมือสั่นสะเทือน หรือการมีโรคบางชนิดก็เป็นสาเหตุโน้มนำทำให้เกิดพังผืดที่ข้อมือได้ คนที่เป็นจะมีอาการนิ้วชา เจ็บปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษามีทั้งแบบไม่ใช้การผ่าตัดและการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ โดยในบทความนี้จะเน้นการรักษาแบบการผ่าตัดเป็นหลัก มีอะไรที่เราต้องรู้ก่อนตัดสินใจไปผ่าบ้าง ตามไปดูกันเลย
พังผืดที่ข้อมือทับเส้นประสาทคืออะไร?
ที่ข้อมือมีโพรงประสาทซึ่งเป็นที่ลอดผ่านของเส้นประสาทเพื่อไปเลี้ยงยังบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ เมื่อเกิดการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ที่อยู่ในโพรงนี้จะส่งผลให้การรับความรู้สึกที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางเปลี่ยนไป

อยากรู้ว่าพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องอ่านบทความนี้เลย โรคยอดฮิตของวัยทำงาน พังผืดที่มือคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร
ทำไมต้องผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ

การผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือไม่ได้เหมาะสำหรับทุกเคส! อันที่จริงแล้วบางคนสามารถหายได้โดยการทำกายภาพบำบัดและการรักษาโดยไม่พึ่งการผ่าตัด สำหรับคนที่เป็นพังผืดรัดเส้นประสาทที่ข้อมือคุณหมอจะแนะนำให้ทำการรักษาดังนี้
ให้รับประทานยาลดอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์
- ประคบเย็น
- งดทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท
- ดามข้อมือให้อยู่ในท่าตรงเพื่อลดการกดทับเส้นประสาทมีเดียน
- ทำกายภาพบำบัด
- ฉีดสเตียรอยด์บริเวณที่เกิดการอักเสบของเส้นประสาท

เมื่อทำการรักษาไปจนถึงระยะหนึ่งแต่อาการชา ความเจ็บปวดที่แขนก็ไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลงด้วยซ้ำ เมื่อนั้นแหละคุณหมออาจจะแนะนำให้ตรวจการนำของกระแสประสาท (Nerve Conduction Study: NCS) และ การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) เพื่อทำการวิเคราะห์ว่าระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติอย่างไรก่อนจะทำการผ่าตัด
เตรียมตัวก่อนผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ
ก่อนทำการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือต้องทำการคุยกับหมอที่ดูแลเคสเราให้ละเอียดถึงความจำเป็นในการผ่าตัด ยาที่เรากินอยู่ ทั้งยาลดอักเสบที่เราทานเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดก่อนหน้านี้ ควรเลิกทานยาเหล่านั้นอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ
นอกจากนั้นหากเรามีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น ป่วย เป็นไข้ ติดไวรัส ก็ควรแจ้งหมอเช่นกัน
ไม่ควรขับรถมาผ่าตัดเอง หาคนมาเป็นเพื่อนเพื่อพาขับรถกลับบ้านจะดีที่สุด เพราะเราอาจจะใช้มือข้างนั้นไม่ได้ไปสักพัก
วิธีการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ
1.วิธีการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือแบบเปิด (Open carpal tunnel release)
วิธีการนี้คุณหมอผ่าตัดจะทำการผ่าตัดเปิดแผลโดยใช้ใบมีดกรีดบริเวณฝ่ามือใกล้ ๆ กับข้อมือเพื่อทำการตัดพังผืดและเนื้อเยื่อข้างเคียงที่บีบรัดเส้นประสาทที่ข้อมือออก ส่งผลให้แรงกดทับที่เส้นประสาทข้อมือลดลง ทำให้ความเจ็บปวดลดลงไปด้วย หลังจากนั้นคุณหมอก็จะเย็บปิดแผล วิธีการนี้สามารถทำได้ทั้งรูปแบบการวางยาสลบทั้งตัว (ต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด) หรือการฉีดยาชาเฉพาะที่แล้วผ่าตัดก็ได้
2.วิธีการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือโดยการส่องกล้อง (Endoscopic carpal tunnel release)
การผ่าตัดโดยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปคุณหมอจะทำการเปิดแผลขนาดเล็กแล้วสอดกล้องเข้าไปบริเวณข้อมือเพื่อตัดเอาพังผืดและเนื้อเยื่อที่บีบรัดเส้นประสาทออก ซึ่งให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันกับการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือแบบเปิด ข้อดีของการเลือกวิธีนี้ก็คือแผลมีขนาดเล็กกว่า ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ
ความเสี่ยงที่ต้องรู้ก่อนเลือกรักษาโดยการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ ซึ่งมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้
- เลือดออก
- ติดเชื้อ
- เส้นประสาทเสียหาย
- เกิดการแพ้ยาสลบหรือยาแก้ปวดที่ใช้
คุณหมอจะนัดตรวจแผลหลังการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามหากเกิดอาการแทรกซ้อนก็สามารถไปหาคุณหมอก่อนวันนัดได้เลย โดยอาการที่เราควรสังเกตก็คือ
หลังผ่าตัดมีอาการมีไข้หรือไม่
- แผลมีอาการบวม แดง เจ็บปวดอย่างผิดปกติ
- มีของเหลวไหลออกมาจากแผลผ่าตัด
- เจ็บปวดอย่างรุนแรง ทานยาที่หมอให้แล้วก็ไม่หาย
- หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
หลังผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือต้องดูแลอย่างไร?
ในขณะที่การผ่าตัดจะทำให้เรารู้สึกเจ็บน้อยลงกว่าก่อนผ่าตัดมาก และอาการชาก็ดูเหมือนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามร่างกายต้องการใช้เวลาในการฟื้นฟูหลังจากการผ่าตัดถึง 4 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ให้เราดูแลรักษาข้อมือเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นตามเคล็ดลับนี้ได้เลย
- ทานยาลดปวดตามแพทย์สั่งให้ครบ
- ประคบเย็นที่ข้อมือทุก 2-3 ชั่วโมง ครั้งละ 20 นาที
- เวลาอาบน้ำระวังอย่าให้แผลโดนน้ำ อาจใช้เทคนิคยกแขนขึ้น 1 ข้างแล้วอาบน้ำด้วยแขนข้างเดียว แต่ถ้ารู้สึกยากเกินไปจะลองหาพลาสเตอร์กันน้ำมาติดแผลเอาไว้ก็ได้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- ยกแขนขึ้นเหนือหัวใน 2-3 วันแรก จะช่วยลดบวมและความเจ็บปวดได้
การทำกายภาพบำบัดหลังจากการผ่าตัดมีส่วนช่วยทำให้การฟื้นฟูเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งคุณหมออาจจะให้ท่าออกกำลังกายให้เรามาฝึกที่บ้าน ควรออกกำลังกายตามท่าที่หมอแนะนำอย่างต่อเนื่อง จะหายช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความเสียหายของเส้นประสาทที่เกิดขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บและชาน้อยลงได้มากเลยทีเดียว หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ ตัดสินใจว่าจะผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือดีหรือไม่นะคะ ขอกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ไว ๆ ค่าา ส่วนใครที่กำลังหานักกายภาพบำบัดดี ๆ ต้องไม่พลาดดีลดี ๆ จาก GoWabi คลิก

หากสาว ๆ กำลังหาโปรโมชั่นร้านนวดร้านดัง รีวิวแน่น พร้อมบริการ ฝังเข็ม ครอบแก้ว นวด นวดแผนไทย นวดน้ำมัน นวดอโรม่า นวดเท้า ออนเซ็น เลือกหาโปรโมชั่นดีๆจาก GoWabi ได้เลยค่ะ!
อ้างอิง