พังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) คือโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด มีอาการชาบริเวณข้อมือ เป็นโรคที่มักจะเกิดในผู้หญิง!! แต่ก็ยังมีสาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดปัญหาพังผืดที่มือทับเส้นประสาท โรคนี้คืออะไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร ใครคือกลุ่มเสี่ยง อาการเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักกับโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือกันเลย
พังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือคืออะไร?
ที่ข้อมือมีโพรงประสาทซึ่งเป็นที่ลอดผ่านของเส้นประสาทเพื่อไปเลี้ยงยังบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ เมื่อเกิดการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ที่อยู่ในโพรงนี้จะส่งผลให้การรับความรู้สึกที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางเปลี่ยนไป
เป็นพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือแล้วจะมีอาการอย่างไร?
ใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ ให้ลองสังเกตดูว่าช่วงนี้เราชอบทำของหลุดมือบ่อย ๆ หรือเปล่า และเมื่อปล่อยเอาไว้อาการต่าง ๆ ที่สามารถพบได้ก็คือ
- อาการชา เจ็บปวดเหมือนมีหนามแทงที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง
- เจ็บเหมือนโดนไฟเผาที่แขน
- เจ็บข้อมือในช่วงกลางคืนซึ่งมักรบกวนการนอนหลับของเราเป็นประจำ
- กล้ามเนื้อที่มืออ่อนแรง
สาเหตุที่ทำให้เกิดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ
เมื่อเกิดการอักเสบบริเวณโพรงเส้นประสาทที่ข้อมือจะส่งผลให้เกิดแรงกดที่เส้นประสาทมีเดียนที่วางตัวอยู่ในโพรงนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอักเสบไม่ได้เกิดจากการใช้งานข้อมือเพียงเท่านั้น แต่มีโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อมือหรือทำให้เกิดการอุดตันของการไหลเวียนของเลือด โรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้แก่
- โรคเบาหวาน
- โรคเกี่ยวกับไทรอยด์
- ภาวะท้อง หรือ วัยหมดประจำเดือนอาจส่งผลทำให้เกิดการบวมน้ำ
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรครูมาตอยด์
- การได้รับการบาดเจ็บที่ข้อมือ
อาการของพังผืดที่มือจะเลวร้ายลงหากเราใช้งานข้อมือมากเกินไป ในท่าที่ใช้ข้อมือทำงานซ้ำไปซ้ำมา เช่น
- ตำแหน่งในการวางข้อมือ การพิมพ์คีย์บอร์ดหรือการจับเมาส์ ไม่เหมาะสมหรืออยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นระยะเวลานาน
- ข้อมือได้รับแรงกระแทกหรือการสั่นจากการใช้เครื่องมือเป็นระยะเวลานาน
- ทำกิจกรรมที่ใช้ข้อมือนาน ๆ เช่น การเล่นเปียโน
ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือได้บ่อย
ผู้หญิงมีโอกาสมากกว่าผู้ชาย 3 เท่าที่จะเกิดพังผืดที่มือ ช่วงวัยที่มักจะพบว่าเป็นโรคนี้ก็คือ 30-60 ปี นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์และงานที่เราทำก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้อีกด้วย
- ไลฟ์สไตล์ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือคือ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารรสชาติเค็มจัด ผู้ที่นั่งทำงานอยู่กับที่นาน ๆ และผู้ที่มีค่า BMI (body mass index) สูง
- งานที่เราต้องใช้ข้อมือในท่าซ้ำ ๆ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่ทำงานในไลน์การผลิต ผู้ที่ทำงานพิมพ์คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ผู้ที่ทำงานก่อสร้าง
ไปหาคุณหมอแล้วจะโดนตรวจอะไรบ้าง?
การตรวจพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือคุณหมอจะทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และในบางคนอาจได้รับการตรวจการนำกระแสประสาท (Nerve Conduction Study) ด้วย
การตรวจร่างกายคือการประเมินการทำงานของมือ ข้อมือ ไหล่ และคอ เพื่อหาจุดที่เกิดการกดทับ เพราะเส้นประสาทที่มาเลี้ยงแขนนั้นมีจุดเริ่มต้นไล่ลงมาตั้งแต่คอ ทุกจดที่สามารถงอได้ก็จะสามารถเกิดการกดทับได้ นอกจากนั้นคุณหมอก็จะเช็กการรับความรู้สึกสัมผัสของนิ้ว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่มืออีกด้วย
การตรวจการนำกระแสประสาท เพื่อหาความผิดปกติของเส้นประสาทว่ามีความผิดปกติที่ไหน บริเวณที่ผิดปกติจะมีการนำกระแสประสาทช้ากว่าปกติ
พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือรักษายังไง?
การรักษาพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยมีทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัด โดยแนวทางการรักษาส่วนใหญ่จะรักษาทางยาเพื่อควบคุมความเจ็บปวดให้ได้และใช้การผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย
การรักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการใช้มือข้างที่มีอาการ
- ใช้เฝือกพยุงข้อมือ เพื่อให้ข้อมืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมโดยเฉพาะในเวลานอน
- ยาลดอักเสบ
- รักษาโรคแฝง สาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อมืออาจเกิดจากโรคต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาในหัวข้อสาเหตุ การควบคุมหรือรักษาโรคแฝงที่เกิดขึ้นก็จะทำให้อาการดีขึ้น
- ฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ หมอที่ดูแลเคสของเราจะเป็นคนพิจารณาถึงความเหมาะสมในการฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบและความเจ็บปวด
การรักษาโดยการผ่าตัด
หากเส้นประสาทมีเดียนที่ถูกกดทับมีความเสียหายอย่างรุนแรง ลองการรักษาแบบไม่ใช้การผ่าตัดแล้วแต่อาการก็ไม่ดีขึ้นเลย การผ่าตัดเพื่อเอาพังผืดที่แข็งตัวออกจะเป็นทางเลือกถัดไป การผ่าตัดจะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาท มีทั้งการผ่าตัดแบบใช้ใบมีดและการส่องกล้อง
ความสำเร็จของการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ระยะเวลาที่เป็นโรค ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ก็จะทำให้โอกาสสำเร็จน้อยลง
ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลจากพังผืดที่ข้อมือ
สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้เลยก็คือการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ที่นำไปสู่การเกิดพังผืดที่ข้อมือ เช่น การใช้ข้อมือในท่าเดิมซ้ำ ๆ การนั่งพิมพ์งานอย่างต่อเนื่อง
ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อหาโรคแอบแฝงต่าง ๆ ที่สามารถทำให้เกิดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง
เตือนตัวเองอยู่เสมอ พยายามนั่งในท่าที่ถูกต้อง และลุกขึ้นเดินผ่อนคลายบ่อย ๆ อย่านั่งทำงานติดต่อกันยาวนานเกินไป ลุกขึ้นมายืดกล้ามเนื้อ หรือปรึกษานักกายภาพบำบัดถึงท่าออกกำลังที่เหมาะสมในเคสของเรา
การรักษาพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ให้ได้ผลดีที่สุดก็คือการได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การปรึกษานักกายภาพบำบัดร่วมกับการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จะทำให้ผลการรักษาในระยะยาวดีขึ้นกว่ามาก ในทางตรงกันข้ามหากเราปล่อยพังผืดที่มือเอาไว้ ไม่ทำการรักษาใด ๆ จะทำให้เส้นประสาทเสียหาย เมื่อถึงขั้นนั้นอาจจะทำให้มือของเราไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมือนเคย อย่ารอให้แย่ถึงขั้นนั้น นี่เลย ดีลจากคลินิกกายภาพบำบัดชั้นนำ คลิก
อ้างอิง
https://www.healthline.com/health/carpal-tunnel-syndrome#_noHeaderPrefixedContent