อาการแบบนี้ไม่ธรรมดา! ชาปลายนิ้วมือเวลานอนอาจเป็นเพราะปัญหาทางระบบประสาท ถ้าตื่นนอนมาแล้วอาการหายไปก็คงไม่น่ากังวลเท่าไหร่ แต่ถ้าหากตื่นขึ้นมาแล้วอาการชาปลายนิ้วมือยังคงอยู่ไปตลอดวันล่ะ!? แถมอาการชายังเกิดขึ้นรุนแรงมากจนรบกวนการนอนหลับอีก ชาปลายนิ้วมือเวลานอนกำลังบ่งบอกว่าเราอาจมีปัญหาอะไร แล้วจะจัดการได้อย่างไร
ชาปลายนิ้วมือเวลานอนจนตื่นนอน อาการที่ไม่ควรมองข้าม
อาการชาที่ไม่สามารถอธิบายได้และปลุกเราให้ตื่นขึ้นกลางดึก ถ้าหากเราตื่นขึ้นและอาการชาที่แขนหรือมือหายไปก็มีความเป็นไปได้ที่อาการชานั้นจะเกิดจากท่านอนของเรา แต่ถ้าหากเรามีอาการชาที่บริเวณอื่นร่วมด้วยก็มีความเป็นไปได้ว่าอาการชาที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ธรรมดา! อาการชาแต่ละตำแหน่งที่ไม่เหมือนกันก็จะเป็นตัวบ่งบอกถึงต้นตอของสาเหตุที่แตกต่างกันไปด้วย อยากรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้ชาที่นิ้วมือมีอะไรบ้างต้องอ่านบทความนี้เลย ต้องระวัง! 6 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาปลายนิ้วมือ
จะมีอาการชาที่แขนและปลายนิ้วแบบไหนที่มักพบได้บ่อย ๆ บ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
ชาปลายนิ้วมือและแขนเวลานอนกำลังบอกอะไร?
1.เกิดการกดทับของเส้นประสาทอัลน่า (Ulnar nerve compression)
เส้นประสาทอัลน่าควบคุมกล้ามเนื้อส่วนของแขนที่อยู่ระหว่างข้อศอกและข้อมือ (forearm muscles) ทำหน้าที่ในการจับสิ่งของและทำหน้าที่รับสัมผัสความรู้สึกของของนิ้วก้อยกับครึ่งนิ้วนาง
เส้นประสาทอัลน่ารับผิดชอบต่อการเกิดอาการชา ความเจ็บปวดที่ปลายนิ้วก้อยและครึ่งของนิ้วนาง ในกรณีที่เส้นประสาทอัลน่าถูกกดทับบริเวณข้อศอกและข้อมือ โดยเฉพาะท่านอนแปลก ๆ ที่แขนหมุนเข้าข้างในลำตัว อาการอื่น ๆ ที่พบได้หากเกิดการกดทับเส้นประสาทอัลน่าเช่น
- ชาบริเวณนิ้วก้อย
- ชาบริเวณฝ่ามือใต้นิ้วก้อยและครึ่งของนิ้วนาง
- ชาบริเวณหลังมือใต้นิ้วก้อยและครึ่งของนิ้วนาง
การกดทับเส้นประสาทอัลน่าอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การเกิดกลุ่มอาการของเส้นประสาทอัลน่าบริเวณข้อศอกถูกกดทับ (Cubital Tunnel Syndrome) นอกจากอาการชาที่เกิดขึ้นแล้วถ้ามีอาการเจ็บปวดและอ่อนแรงเกิดขึ้น ก็ควรไปหาหมอได้แล้วล่ะ
2.เกิดการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve compression)
เส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ควบคุมกล้ามเนื้อและความรู้สึกของนิ้วชี้ นิ้วกลาง ครึ่งนิ้วนาง และนิ้วโป้งด้านฝ่ามือ การถูกกดทับที่เส้นประสาทมีเดียนมักเกิดขึ้นบริเวณข้อศอกหรือข้อมือ ท่านอนที่กดทับบริเวณดังกล่าวจึงสามารถทำให้เกิดอาการชาตามมาได้ ซึ่งบริเวณที่ชา ได้แก่
- ด้านฝ่ามือ: บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งของนิ้วนาง
- บริเวณโคนนิ้วโป้ง
เมื่อปล่อยให้เกิดการกดทับเส้นประสาทมีเดียนเป็นระยะเวลานานอาจนำไปสู่การเกิดการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือได้ (carpal tunnel syndrome) ได้ ซึ่งถ้าหากเมื่อไหร่ที่อาการมาถึงขั้นนี้แล้วจะรู้สึกเหน็บชา และเจ็บบริเวณมือกับแขน ควรไปหาคุณหมอทันทีเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุมักจะไม่ได้มาจากท่านอนที่ผิดปกติ
3.เกิดการกดทับของเส้นประสาทเรเดียล (Radial nerve compression)
เส้นประสาทเรเดียลควบคุมกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เหยียดนิ้ว ข้อมือและรับความรู้สึกบริเวณหลังมือ หากเกิดแรงกดที่ข้อมือหรือแขนจะทำให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทเรเดียลตามมาได้ ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ตามนี้เลย
- ชาที่นิ้วชี้
- ชาที่ด้านหลังมือของนิ้วโป้ง
- ชาที่บริเวณระหว่างนิ้วชี้และนิ้วโป้ง
หากมีอาการชาที่เส้นประสาทเรเดียลบ่อย ๆ อาจนำไปสู่กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทเรเดียล (Radial tunnel syndrome) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่แขน ข้อศอก และข้อมือ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปหาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน
ทำอย่างไรถ้าไม่อยากชาปลายนิ้วมือเวลานอน
หากเราไม่ได้มีปัญหาอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือไปหาผู้เชี่ยวชาญมาแล้วไม่มีปัญหาใด ๆ แอบแฝง ปัญหาของเราน่าจะอยู่ที่ท่านอน วิธีการแก้ไขที่ง่ายที่สุดเลยก็คือการเปลี่ยนท่านอน นี่เลย เคล็ดลับที่ช่วยหลีกเลี่ยงอาการชาปลายนิ้วมือเวลานอน
- หลีกเลี่ยงการนอนในท่าขดตัวเหมือนทารก การนอนงอแขนจะเพิ่มแรงกดไปยังเส้นประสาทที่วางอยู่ที่ข้อศอก ลองใช้ผ้าห่มที่มีความหนักมากยิ่งขึ้นเพื่อทำให้เราพลิกตัวยากขึ้นระหว่างนอนหลับ ก็จะช่วยป้องกันอาการชาปลายนิ้วมือเวลานอนได้
- หากเราเป็นคนที่ชอบนอนคว่ำ พยายามวางแขนเอาไว้ข้าง ๆ ลำตัว อย่านอนทับแขน
- ท่านอนที่จะหลีกเลี่ยงการชาปลายนิ้วมือเวลานอนได้ดีที่สุดก็คือท่านอนหงาย พยายามวางแขนเอาไว้ที่ข้างลำตัว หลีกเลี่ยงการวางแขนเอาไว้บนหัวเนื่องจากเป็นการขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงยังส่วนแขนได้
- อย่านำแขนไปไว้ใต้หมอน! เป็นอีกท่ายอดฮิตที่คนนิยมทำกัน น้ำหนักส่วนหัวที่กดลงไปที่แขนจะทำให้เกิดอาการชาตามมาได้
แน่นอนว่ามันอาจจะฟังดูเป็นไปไม่ได้เลยกับการกำหนดท่านอน ก็เพราะตอนนอนใครจะไปควบคุมได้ล่ะ! ไม่เป็นไรเรามีตัวช่วย หากการควบคุมท่านอนดูจะเป็นไปได้ยาก ให้ลองใช้อุปกรณ์พยุงแขน (immobilizing brace) ก็จะช่วยควบคุมไม่ให้บริเวณที่ใช้อุปกรณ์นี้งอจนเกินไป หากใครยังไม่อยากเสียเงินซื้อลองใช้เป็นผ้าขนหนูพันบริเวณที่เราไม่ต้องการให้งอเอาไว้ พันแบบไม่แน่นมากแต่ก็ต้องมั่นใจว่ามันจะไม่หลุดระหว่างนอน
เมื่อพยายามปรับท่านอนให้เป็นปกติ ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการปรับตัวกับท่าใหม่ หากเรารู้สึกไม่ค่อยชาปลายนิ้วเวลานอนอีกแล้วจะเลิกใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงแขนก็ได้ค่ะ
นิ้วชาไม่หายต้องลองท่าบริหารเพิ่มความแข็งแรงของมือและข้อมือ อ่านบทความนี้ ต้องลอง! 5 ท่าบริหารแก้อาการนิ้วชาไม่หาย
อาการชาปลายนิ้วเวลานอนแบบไหนไม่ธรรมดา! ต้องไปหาหมอ
ถ้าหากลองปรับท่านอนก็แล้ว ลองใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงแขนก็แล้วแต่อาการชาก็ยังปลุกเราให้ตื่นขึ้นระหว่างคืนอยู่อีก เป็นอาการซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตนี่คือสัญญาณเตือนที่บอกว่าเราควรไปหาหมอได้แล้ว หากพบอาการดังนี้ควรรีบไปหาหมอทันที
- อาการชาคงอยู่ระหว่างวัน
- พบอาการชาบริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ที่ไหล่ ที่คอ ที่หลัง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เริ่มรู้สึกว่าหยิบจับสิ่งของแล้วหลุดมือบ่อย
- มีอาการเจ็บปวด
ไหนใครมีอาการชาปลายนิ้วมือเวลานอนบ้าง จริง ๆ แล้วถ้าตื่นขึ้นมาแล้วหายไปก็ไม่น่าเป็นกังวลเท่าไหร่ค่ะ แต่ถ้าหากอาการยังคงอยู่ มีอาการเจ็บ อ่อนแรงร่วมด้วย แนะนำว่าไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจอย่างละเอียดดีกว่าค่ะ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทก็เป็นได้ อย่าวางใจเชียว ใครไม่รู้จะไปหาหมอที่ไหนดี นี่เลยยย ดีลดี ๆ โปรโมชั่นเด็ด ๆ ของร้านกายภาพบำบัดชั้นนำ จากแอป GoWabi คลิก
อ้างอิง
https://www.healthline.com/health/numbness-in-hands-while-sleeping-2