มะเร็งปากมดลูก ข่าวร้ายที่ไม่มีใครอยากได้ยิน ในอีกแง่มุมหนึ่ง การทำความรู้จักกับมะเร็งปากมดลูกก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยทำให้เรารู้จักโรคนี้และตระหนักได้ว่าเรามีความเสี่ยงหรือเปล่า เราสามารถดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกได้บ้าง มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร และเราจะลดความเสี่ยงอย่างไรดี วันนี้มาหาคำตอบกันค่ะ
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร?
ตอบอย่างตรงไปตรงมาเลยก็คือ มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human papillomavirus) เชื้อไวรัส HPV มีเป็นร้อยสายพันธุ์ HPV สายพันธุ์ที่เป็นตัวที่มีความเสี่ยงทำให้โรคพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกก็คือ HPV สายพันธุ์ 16 และ HPV สายพันธุ์ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุกว่า 70% ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
ในช่วงชีวิตของคนเรา ถ้าหากมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ก็มีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้ ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิต โดยส่วนมากแล้วร่างกายสามารถกำจัดเชื้อ HPV ออกไปได้ภายใน 1-2 ปี การติดเชื้อระยะสั้น ๆ นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่! HPV ตัวที่น่ากลัวก็คือ สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงที่อยู่ในร่างกายได้นานหลายปี ตัวนี้แหละที่จะพัฒนาทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ทำให้เซลล์ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าหากไม่ได้รักษาตั้งแต่ระยะแรกที่สามารถตรวจพบได้ ก็อาจะทำให้โรคดำเนินต่อไปจนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด
กังวลว่าตัวเองจะมีอาการของมะเร็งปากมดลูกหรือเปล่า แนะนำบทความนี้เลยค่ะ รู้ทันก่อนสาย! มะเร็งปากมดลูกอาการเป็นอย่างไร มีกี่ระยะ
ใครที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกบ้าง?
ชื่อของโรคก็ค่อนข้างตรงตัวอยู่แล้วว่ามะเร็งปากมดลูก กลุ่มเสี่ยงก็คือผู้หญิงที่มีปากมดลูกนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ใครบ้างที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
![กลุ่มเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก](https://www.gowabi.com/blog/wp-content/uploads/2025/01/risk-factor-cervical-cancer.png)
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุไม่เกิน 18 ปี
ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน จึงมีโอกาสในการสัมผัสเชื้อ HPV ได้มากกว่า
ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 45 ปี มะเร็งปากมดลูก มักจะพบในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 45 ปี
ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ ในกรณีที่เรามีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอไม่ว่าจะเป็น จากการติดเชื้อ HIV หรือจากการได้รับยาบางชนิดที่มีผลกดภูมิคุ้มกัน จะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อ HPV ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับบุหรี่มือสอง จะมีความเสี่ยงที่ทำให้การติดเชื้อ HPV พัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้
สาเหตุจากระบบสืบพันธุ์ การรับประทานยาคุมนานกว่า 5 ปี และการให้กำเนิดบุตรจำนวนมากกว่า 3 คน เป็นอีกความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะอะไร
ความอ้วน ภาวะอ้วนจะทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสเจอเซลล์ผิดปกติยากขึ้น จึงทำให้เชื้ออยู่ในร่างกายได้นานโดยไม่ถูกตรวจพบและทำให้โรคมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า
ไม่ได้รับวัคซีน HPV ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันมีโอกาสเสี่ยงน้อยกว่าในการเป็นมะเร็งปากมดลูก
ผลกระทบของมะเร็งปากมดลูกต่อชีวิตของเรา
การติดเชื้อ HPV (Human Papillomavirus) สามารถส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ จิตใจ และการใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อได้ดังนี้
ผลกระทบด้านสุขภาพ
- มะเร็ง การติดเชื้อ HPV บางสายพันธุ์สามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งอวัยวะเพศ
- หูด HPV สายพันธุ์อื่น ๆ อาจทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายและเกิดอาการคัน
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ การติดเชื้อ HPV อาจนำไปสู่การติดเชื้อในบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่สบาย ต้องเสียเงินเสียเวลาในการไปรักษาตัวเองอีกด้วย
ผลกระทบทางด้านจิตใจ
- ความกังวลและความเครียด การรู้ว่าตนเองติดเชื้อ HPV อาจทำให้ผู้ติดเชื้อรู้สึกกังวลและเครียดเกี่ยวกับสุขภาพและความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
- ความรู้สึกไม่สบายใจในความสัมพันธ์ ผู้ติดเชื้ออาจรู้สึกอายหรือลำบากใจในการเปิดเผยสถานะการติดเชื้อกับคู่รักหรือคู่ครอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัว
- ภาวะซึมเศร้า บางครั้งการติดเชื้อ HPV อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือความรู้สึกไร้ค่า เนื่องจากการต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
- การรักษาพยาบาล การต้องเข้ารับการตรวจและรักษาต่าง ๆ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือการรักษาหูด อาจทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย
- ความไม่สะดวกในชีวิตประจำวัน หูดที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำกิจกรรมทางเพศ หรือการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย
- การลดคุณภาพชีวิต การต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV อาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เนื่องจากการต้องจัดการกับอาการเจ็บป่วยและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกอย่างไรดี
ฉีดวัคซีน HPV
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการฉีดวัคซีน HPV ก็คือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก สำหรับคนที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแล้ว การฉีดวัคซีน HPV จะมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่เนื่องจากเราอาจได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายไปแล้ว
อายุที่น้อยที่สุดที่สามารถได้รับวัคซีน HPV สามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ไปจนถึงอายุ 26 ปี สำหรับผู้ที่อายุ 27 – 45 ปี หากอยากฉีดวัคซีน HPV ก็สามารถทำได้นะคะ เพียงเข้าไปคุยสอบถามคุณหมอถึงความกังวลใจ คุณหมอจะอธิบายถึงประสิทธิภาพของวัคซีน HPV ในเคสของเราว่าฉีดไปจะป้องกันได้ดีไหม คุ้มค่าหรือเปล่า เรื่องนี้เราต้องตัดสินใจเองค่ะ
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ทุกสายพันธุ์ ถึงจะฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยอยู่ดี สำหรับผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป และเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
ถึงแม้เราจะมีคู่นอนเพียงคนเดียว แต่เราจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าคู่นอนของเรามีเราเพียงคนเดียว! ถุงยางอนามัยมีความสำคัญมากในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ต้องบอกก่อนว่าถุงยางอนามัยป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้แค่เฉพาะบริเวณที่สวมถุงยางอยู่ แต่บริเวณที่ถุงยางสวมไม่ถึง หากตรงนั้นมีเชื้ออยู่ เราก็มีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้ค่ะ
สำหรับคำถามที่ว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร คงได้คำตอบกันไปแล้วนะคะ ก็คือการติดเชื้อ HPV (Human papillomavirus) สายพันธุ์ร้ายแรงมานานในระยะเวลาหนึ่งจนทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง ใครที่รู้ตัวว่าเสี่ยงอยากให้ไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำค่ะ GoWabi ชี้เป้าโรงพยาบาลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกราคาไม่แรง คุณภาพแรงมากกกก ตามลิงก์นี้มาเลยค่ะ GoWabi Deals มะเร็งปากมดลูก
อ้างอิง
National Cancer Institute, Cervical Cancer Causes, Risk Factors, and Prevention
, https://www.cancer.gov/types/cervical/causes-risk-prevention