มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัวหญิงสาว พบมากในผู้หญิงอายุ 35 ถึง 60 ปีแต่ก็ สามารถพบได้ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 30 ปีได้เช่นกัน และเป็นมะเร็งยอดฮิตที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งที่เกิดในผู้หญิงไทย โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคนี้ 12 คนต่อวันเลยทีเดียว ฟังดูอย่างนี้น่ากลัวมาก ๆ เลยใช่ไหมคะ วันนี้โกวาบิขอนำเสนอมะเร็งปากมดลูกอาการเป็นอย่างไรและมะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ มาทำความเข้าใจกับเรื่องของมะเร็งปากมดลูกให้มากขึ้นกันค่ะ
มะเร็งปากมดลูกคืออะไร
การพบก้อนเนื้อร้ายบริเวณช่องคลอดหรือปากมดลูก อันเกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า HPV (Human papillomavirus) การติดเชื้อ HPV สามารถพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ติดต่อมาจากการสัมผัสกับบริเวณที่มีเชื้อ โดยเฉพาะผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เชื้ออาจอยู่ในร่างกายได้นานเป็นสิบ ๆ ปี โดยไม่แสดงอาการหรือมีสัญญาณเตือนใด ๆ มาก่อน ช่วงอายุของผู้หญิงที่พบเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่ในช่วงอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
กลุ่มเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้แนะนำว่าควรจะต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำด้วยวิธีการ Pap smear, ThinPrep หรือ HPV DNA ผู้ที่มีกลุ่มเสี่ยงได้แก่
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือแฟนมีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV ได้รับยาบางชนิดเป็นระยะเวลานานที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อการเป็นระยะเวลานาน
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เริม
- ผู้ที่ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน HPV
- ผู้ที่สูบบุหรี่ จะทำให้การติดเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายได้นานขึ้นและยากที่จะกำจัดออกจากร่างกาย
มะเร็งปากมดลูกอาการเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าการติดเชื้อไวรัส HPV กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกมีความเชื่อมโยงกัน การติดเชื้อไวรัส HPV เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก จึงอยากชวนมาทำความเข้าใจอาการตั้งแต่การติดเชื้อ HPV ไปจนถึงอาการของมะเร็งปากมดลูก
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HPV มักจะไม่รู้ตัวเนื่องจากเชื้อ HPV สามารถอยู่ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อได้นานเป็นสิบ ๆ ปี โดยไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้เลยว่าเราได้รับเชื้อมาจากใครและเมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโรคพัฒนาไปเรื่อย ๆ จะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้แก่
หูดหงอนไก่ (Genital warts) เกิดจากการติดเชื้อ HPV ความเสี่ยงต่ำชนิดที่ทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศ ผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่อาจจะไม่มีอาการใด ๆ ผิดปกติเลย หรืออาจมีอาการคัน ตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกจากหูด หูดมีขนาดโตขึ้นจนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดหรือทวารหนัก หากผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่มีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เกิดจากการติดเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูง และเช่นเดียวกัน การติดเชื้อ HPV จะไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนามาเป็นมะเร็งปากมดลูก เมื่อเกิดมะเร็งปากมดลูกแล้วจะทำให้เกิดอาการดังนี้
- พบเลือดออกจากช่องคลอด
- ประจำเดือนมีปริมาณมากกว่าปกติหรือนานกว่าปกติ
- เกิดความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- พบเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
- เจ็บปวดบริเวณเชิงกราน
- ตกขาวมีความผิดปกติทั้งในเรื่องของปริมาณมากกว่าปกติ มีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป
- มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงวัยหมดประจำเดือน
รู้หรือไม่ หากตรวจร่างกายพบหูดหงอนไก่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก เพราะตามธรรมชาติของการติดเชื้อ HPV มักจะติดเชื้อหลายสายพันธุ์พร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้นจึงควรได้รับการตรวจคัดกรอง HPV เป็นประจำ
มะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ
มะเร็งปากมดลูกมีทั้งหมด 4 ระยะ
ระยะที่ 1 พบเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกและสามารถตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองเซลล์มะเร็งเท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น มะเร็งลุกลามกินพื้นที่ 2 ใน 3 ส่วนของช่องคลอด หรือ มะเร็งลุกลามไปยังมดลูก
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามไปผนังช่องคลอดหรือเชิงกราน อาจทำให้เกิดปัญหาไตบวมน้ำและหยุดทำงานลงไปได้ บางครั้งก็อาจพบว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงอีกด้วย
ระยะที่ 4 มะเร็งระยะลุกลามโดยลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น เชิงกราน กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง ตับ ปอด และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป
ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ เมื่อติดเชื้อ HPV กว่าโรคจะแสดงอาการในบางรายอาจใช้เวลานานเป็นสิบ ๆ ปี เพราะฉะนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการรู้เท่าทันว่ามะเร็งปากมดลูกอาการเป็นอย่างไรจึงมีความสำคัญมาก ๆ หากเพื่อน ๆ อ่านบทความนี้จบ เพียงเท่านี้เพื่อน ๆ ก็มีความตระหนักรู้และสามารถสังเกตอาการของตัวเองได้เบื้องต้นแล้วค่ะ รู้เร็ว รักษาได้เร็วนะคะ ด้วยรักจากทีมโกวาบิ
อ้างอิง
- Medical news today, What is human papillomavirus (HPV)?, https://www.medicalnewstoday.com/articles/246670#risk-factors
- U.S. Department of Veterans Affairs, HPV – Women’s Health Guide, https://www.publichealth.va.gov/infectiondontpassiton/womens-health-guide/stds/hpv.asp
- Cancer Council, Cervical cancer, https://www.cancer.org.au/cancer-information/types-of-cancer/cervical-cancer
- Mayo Clinic, Cervical cancer, https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cervical-cancer/symptoms-causes/syc-20352501
- National Cancer Institute, Cervical Cancer Stages, https://www.cancer.gov/types/cervical/stages