ชีวิตพนักงานออฟฟิศหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เกิดอาการปวดหลัง คอ บ่า ไหล่ ตามมาได้ง่าย ๆ เรียกได้ว่าใครที่เป็นพนักงานออฟฟิศต้องเคยประสบชะตากรรมออฟฟิศซินโดรมกันบ้างสักครั้ง ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร อาการออฟฟิศซินโดรมล่ะมีอะไรบ้าง แล้วใครคือกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการเหล่านี้ มาทำความรู้จักกับออฟฟิศซินโดรมก่อนที่จะปวดหลังไปมากกว่านี้ ตามมาดูกันเลยค่ะ
ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร
กลุ่มอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อและพังผืดกล้ามเนื้อ จากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการอักเสบเรื้อรัง สามารถเกิดได้กับทุกคนโดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคนที่ไม่ค่อยขยับร่างกาย บางคนโชคร้ายมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เรื้อรังยาวนานไม่หายไปไหน นั่นอาจจะเป็นหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเราอาจจะเป็นออฟฟิศซินโดรมค่ะ
จุดเริ่มต้นของออฟฟิศซินโดรม
เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการหดเกร็งของเส้นใยกล้ามเนื้อ เมื่อสัมผัสที่จุดนี้จะเกิดความเจ็บปวด กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะนูนขึ้นมาเล็กน้อยคล้ายกับมีก้อนอยู่ข้างใต้ซึ่งเรียกว่า “Trigger Point” การหดเกร็งของกล้ามเนื้อจะทำให้ขัดขวางการไหลเวียนของเลือด เส้นใยกล้ามเนื้อจึงไม่ได้รับออกซิเจน เกิดการสะสมของของเสียในเส้นใยกล้ามเนื้อเหล่านี้ ของเสียเหล่านี้ทำให้ระคายเคืองเส้นใยกล้ามเนื้อส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดตามมา
เพื่อน ๆ สามารถลองลูบคลำบริเวณที่เจ็บปวดดู ถ้าพบลักษณะคล้ายก้อนนูน ๆ อยู่ในกล้ามเนื้อนั่นก็แปลว่าเพื่อน ๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรมแล้วล่ะ
8 สัญญาณอาการออฟฟิศซินโดรม
- อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณหลัง คอ บ่า ไหล่ ลักษณะของอาการเจ็บเป็นได้ทั้งเจ็บแบบเต้นตุบ ๆ ตึงแน่น ติดขัด
- คลำพบ Trigger Point หรือก้อนนูนในกล้ามเนื้อ เมื่อจับบริเวณก้อนนี้จะรู้สึกเจ็บ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงในบริเวณที่มีปัญหา
- มีอาการปวดหัว ตาพร่ามัว
- ความเจ็บปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าว่าจะหายสักที
- นอนหลับไม่สนิทหรือมีปัญหาในการนอนหลับ
- มีความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
- มีอาการเหนื่อยตลอดเวลา
พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เป็นออฟฟิศซินโดรม
สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นออฟฟิศซินโดรมมาจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมนาน ๆ ซ้ำไปซ้ำมา กล้ามเนื้อบาดเจ็บ และความเครียด ก้อนนูนหรือ Trigger Point เกิดขึ้นมาจากการทำท่าเดิม ๆ กิจกรรมเดิม ๆ เช่นการยกของหนัก ๆ การนั่งใช้คอมพิวเตอร์ท่าเดิมเป็นเวลานาน แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรมมักจะมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ลองมาดูกันค่ะว่าพฤติกรรมเสี่ยงใดที่ส่งผลให้เป็นออฟฟิศซินโดรมได้บ้าง
- ท่านั่งไม่เหมาะสม
- นั่งในถ้าเดิมเป็นระยะเวลานาน
- ขาดสารอาหารบางชนิด
- ขาดการออกกำลังกายหรือขาดการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน
- การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อต่าง ๆ หรือการบอดเจ็บที่หมอนรองกระดูกสันหลัง
- ขาดการนอนหลับ
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
- การนอนในสภาพอากาศที่มีความเย็นจัด
- มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ เช่น เป็นซึมเศร้า วิตกกังวล
- ความอ้วน
- การสูบบุหรี่
ออฟฟิศซินโดรมคือกลุ่มอาการของการเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อและพังผืดกล้ามเนื้อ อาการออฟฟิศซินโดรมสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ เลยก็คือผู้ที่เป็นจะเกิดความเจ็บปวด ตึง ติดขัดบริเวณกล้ามเนื้อหลัง คอ บ่า ไหล่ ออฟฟิศซินโดรมสามารถพบได้ในผู้ใหญ่วัยกลางคนทุกคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง อ่านบทความนี้จบอย่าลืมออกไปขยับร่างกายยืดแข้งยืดขาสักเล็กน้อยเพื่อลดโอกาสในการเกิดออฟฟิศซินโดรมกันด้วยนะคะ ส่วนใครที่คิดว่าตัวเองกำลังมีปัญหาออฟฟิศซินโดรมอยู่แน่ ๆ GoWabi ขอแนะนำดีลเด็ด ๆ จากคลินิกกายภาพบำบัดชั้นนำ คลิกที่รูปภาพได้เลย
อ้างอิง
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12054-myofascial-pain-syndrome